สนธิสัญญาแวร์ซาย
(Treaty of Versailles)
เป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างฝ่ายพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนกลุ่มประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลางอื่น ๆ ได้มีการตกลงยกเลิกสถานภาพสงครามด้วยสนธิสัญญาฉบับอื่น ถึงแม้ว่าจะได้มีการลงนามสงบศึกตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 แล้วก็ตาม การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสได้กินเวลาไปกว่าหกเดือน จึงได้มีการสรุปสนธิสัญญา
ผลจากสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้จักรวรรดิเยอรมันต้องยินยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ข้อตกลงมาตรา 231 (ในภายหลังรู้จักกันว่า "อนุประโยคความผิดในอาชญากรรมสงคราม") และในมาตรา 232-248 เยอรมนีถูกปลดอาวุธ ถูกจำกัดอาณาเขตดินแดน รวมไปถึงต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่กลุ่มประเทศฝ่ายไตรภาคีเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อปี ค.ศ. 1921 ได้ประเมินว่ามูลค่าของค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายนั้นสูงถึง 132,000 ล้านมาร์ก (ราว 31,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 6,600 ล้านปอนด์) อันเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้และไม่สร้างสรรค์ และเยอรมนีอาจต้องใช้เวลาชำระหนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 1988 สนธิสัญญาดังกล่าวได้ถูกบ่อนทำลายด้วยเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นภายหลังปี ค.ศ. 1932 จนกระทั่งร้ายแรงขึ้นเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1930
การแก่งแย่งและเป้าหมายที่ขัดแย้งกันเองของฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงครามทำให้ไม่มีฝ่ายใดพอใจผลการประนีประนอมที่ได้มาเลย ทั้งเยอรมนีก็ไม่ได้รับการปลอบประโลมหรือไมตรีตอบแทนใด ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลร้ายต่ออนาคตของเยอรมนีเท่านั้น หากกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ตลอดจนโลกทั้งใบอีกด้วย การที่ฝ่ายพันธมิตรไม่รื้อฟื้นความสัมพันธ์หรือทำให้เยอรมนีอ่อนแออย่างถาวร ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง
การชำระค่าปฏิกรรมสงครามนัดสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2010 วันครบรอบยี่สิบปีการรวมประเทศเยอรมนี และเก้าสิบสองปีพอดีหลังสงครามยุติ
มาตรการที่มีต่อเยอรมนี
การจำกัดทางกฎหมาย
มาตรา 227 แจ้งข้อหาแก่จักรพรรดิแห่งเยอรมนี จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม
มาตรา 228-230 ระบุถึงอาชญากรสงครามชาวเยอรมันที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 231 ("อนุประโยคความผิดในอาชญากรรมสงคราม") ได้ถือว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่ส่งผลประทบต่อพลเรือนของกลุ่มประเทศฝ่ายพันธมิตร
การกำหนดกำลังทหาร
ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซายว่า "ในความพยายามที่จะเริ่มต้นการจำกัดอาวุธของนานาประเทศนั้น เยอรมนีจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ซึ่งปริมาณของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้"
แคว้นไรน์แลนด์เป็นเขตปลอดทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
กองทัพเยอรมันถูกจำกัดทหารเหลือเพียง 100,000 นาย การประกาศระดมพลถูกล้มเลิก
ตำแหน่งทหารชั้นประทวนจะได้ต้องยกเลิกไปเป็นเวลา 12 ปี และตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจะต้องได้รับการยกเลิกไปเป็นเวลา 25 ปี
ห้ามทำการผลิตอาวุธในเยอรมนี และห้ามทำการครอบครองรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ เครื่องบินรบและปืนใหญ่ทั้งสิ้น
ห้ามเยอรมนีนำเข้าและส่งออกอาวุธ รวมไปถึงการผลิตและการครอบครองแก๊สพิษ
กำลังพลกองทัพเรือถูกจำกัดลงเหลือ 15,000 นาย เรือรบ 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 10,000 เมตริกตัน) เรือลาดตระเวน 6 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 6,000 เมตริกตัน) เรือพิฆาตตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 800 เมตริกตัน) และเรือยิงตอร์ปิโด 12 ลำ (น้ำหนักเรือไม่เกิน 200 เมตริกตัน) เยอรมนีห้ามมีเรือดำน้ำในครอบรอง
การปิดล้อมทางทะเลต่อเรือถูกสั่งห้าม
การกำหนดพรมแดน
จากสนธิสัญญาแวร์ซาย ได้กำหนดให้เยอรมนีสูญเสียอาณานิคมทั้งหมด รวมไปถึงดินแดนบางส่วนของแผ่นดินแม่ โดยดินแดนที่สำคัญ ได้แก่ ดินแดนปรัสเซียตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง และยังต้องสูญเสียฉนวนโปแลนด์และทางออกสู่ทะเลบอลติก นับตั้งแต่ผลของการแบ่งโปแลนด์ และทำให้แคว้นปรัสเซียตะวันออกถูกกีดกันออกไปจากแผ่นดินเยอรมนีเป็นดินแดนแทรก
ปัญหามณฑลซานตง
ตามมาตราที่ 156 ของสนธิสัญญา ได้กำหนดให้สัมปทานของเยอรมนีในมณฑลชานตงของจีนต้องถูกโอนให้แก่ญี่ปุ่น แทนที่จะถูกโอนกลับมาให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ชาวจีนจึงจัดการเดินขบวนต่อต้านครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนการ 4 พฤษภาคม (อังกฤษ: May Fourth Movement) และส่งผลกระทบให้จีนไม่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว จีนได้ประกาศยุติสงครามกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1919 และลงนามในสนธิสัญญาแยกต่างหากกับเยอรมนีในปี ค.ศ. 1921
การจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ
ในส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายได้กล่าวถึงกติกาของสันนิบาตชาติ ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งสันนิบาตชาติ อันเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยมีจุดประสงค์ที่จะขจัดความขัดแย้งระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่สิบสามของสนธิสัญญาแวร์ซาย ก็ได้เป็นจุดกำเนิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีความพยายามที่จะกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน รวมไปถึงการกำหนดเพดานวันและเวลางานสูงสุด การกำหนดการบรรจุแรงงาน และการป้องกันการว่างงาน การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ การดูแลรักษาแรงงานจากอาการป่วยและบาดเจ็บ การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและผู้บาดเจ็บ การกำหนดผลประโยชน์ของแรงงานเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือและการอบรมจากประเทศที่ได้รับการบรรจุ รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง และยังได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้นเพื่อดูแลดินแดนแถบแม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์ แม่น้ำเนอเมนและแม่น้ำดานูบ
ประเทศเกิดใหม่จากผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย
ออสเตรีย มีพื้นที่ 28,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 6 ล้านคน
ฮังการี มีพื้นที่ 45,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 8 ล้านคน
เชโกสโลวาเกีย (ประกอบด้วยแค้วนโบฮีเมีย โมราเวีย สโลวาเกียและบางส่วนของไซลีเซีย) มีพลเมือง 11 ล้านคน
ยูโกสลาเวีย (ประกอบด้วยแคว้นมอนเตนิโกร บอสเนีย เฮอร์เซโกวนา ชลาโวเนีย คัลมาเซียและโครเอเซีย: ซึ่งเคยเป็นประเทศบอสเนียมาก่อน) มีพลเมือง 9 ล้านคน
โปแลนด์ มีพื้นที่ 120,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 12 ล้านคน
ฟินแลนด์ มีพื้นที่ 150,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน
เอสโตเนีย มีพื้นที่ 18,355 ตารางไมล์ มีพลเมือง 1 ล้านคน
ลัตเวีย มีพื้นที่ 25,384 ตารางไมล์ มีพลเมือง 2 ล้านคน
ธงชาติของลิทัวเนีย ลิทัวเนีย มีพื้นที่ 21,000 ตารางไมล์ มีพลเมือง 3.5 ล้านคน
ประวัติการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย
เศรษฐกิจของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอ่อนแอมาก และค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถจ่ายคืนโดยเป็นสกุลเงินของเยอรมนีได้ กระนั้น แม้แต่การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเพียงน้อยนิดนี้ก็ยังเป็นภาระหนักสำหรับเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยส่งผลกระทบกว่าหนึ่งในสามของภาวะเงินเฟ้อในสาธารณรัฐไวมาร์ และส่งผลให้เกิดการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายหลายครั้ง อย่างเช่น
ในปี ค.ศ. 1919 ได้ปรากฏการการล้มล้างกองเสนาธิการ อย่างไรก็ตาม แก่นกลางของกองเสนาธิการกลับอยู่ในอีกองค์กรหนึ่ง ที่เรียกว่า ทรุปเปเนมท์ (เยอรมัน: Truppenamt) ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของกองทัพบกและกองทัพอากาศขึ้นใหม่[49] และมีอุปกรณ์การฝึกสอนที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1922 ผู้แทนของรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาราพัลโล ณ การประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองกานัว ประเทศอิตาลี สนธิสัญญาดังกล่าวได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ยกเลิกคำกล่าวอ้างทางเศรษฐกิจ และให้การรับประกันต่อความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในปี ค.ศ. 1932 รัฐบาลเยอรมนีประกาศว่าเยอรมนีจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงลดอาวุธตามสนธิสัญญา เนื่องจากความล้มเหลวของประเทศฝ่ายพันธมิตรที่จะลดอาวุธ ตามเนื้อหาในส่วนที่ห้าของสนธิสัญญาแวร์ซาย
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สั่งให้มีการระดมพลในเยอรมนีและสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงกองทัพเรือ กองพลยานเกราะ (เป็นครั้งแรกในโลก) และกองทัพอากาศ
ในเดือนมิถุนายน 1935 สหราชอาณาจักรละเมิดสนธิสัญญาอย่างร้ายแรง เมื่อลงนามใน ข้อตกลงการเดินเรือระหว่างอังกฤษ-เยอรมัน
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ส่งทหารเข้าไปยังเขตปลอดทหารไรน์แลนด์
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 ฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
ในเดือนกันยายน 1938 ฮิตเลอร์ได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีให้ยึดครองซูเตเดนแลนด์
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ยึดครองเชโกสโลวาเกียทั้งประเทศ
1 กันยายน 1939 เยอรมนีรุกรานโปแลนด์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง