นักมานุษยวิทยาคนสำคัญชาวฝรั่งเศส "โคล้ด เลวี่-สเตราส์" เสียชีวิตในวัย 100 ปี
"โคล้ด เลวี่-สเตราส์" ผู้ก่อตั้งสาขาวิชามานุษยวิทยาเชิงโครงสร้างได้เสียชีวิตลงในวัยหนึ่งศตวรรษ เผยเป็นผู้ต่อต้านท้าทายว่าวัฒนธรรมยุโรปไม่ได้ดีเลิศสูงส่งกว่าวัฒนธรรมอื่นสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "โคล้ด เลวี่-สเตราส์" หนึ่งในปัญญาชนชาวฝรั่งเศสที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักคิดมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ในวัย 100 ปี
เลวี่-สเตราส์ เกิดที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) ในครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิว เขาเติบโตในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์
เดิมที เลวี่-สเตราส์ เป็นนักศึกษาที่ชาญฉลาดผู้มีความสามารถดีเยี่ยมในวิชาธรณีวิทยา, นิติศาสตร์ และปรัชญา จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสเดินทางไปสอนหนังสือในสาขาวิชาสังคมวิทยา ที่ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) เขาจึงเริ่มให้ความสนใจกับสาขาวิชามานุษยวิทยา
ที่ประเทศบราซิล เลวี่-สเตราส์ได้เดินทางไปศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนเผ่าท้องถิ่น รวมทั้งได้ริเริ่มพัฒนาทฤษฎีและวิธีวิทยาในการศึกษากลุ่มชนเผ่าท้องถิ่นเหล่านั้น ซึ่งต่อมาได้มีคุณูปการอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาวิชามานุษยวิทยา
หลังจากเดินทางกลับมาประเทศฝรั่งเศส เลวี่-สเตราส์ได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากที่ฝรั่งเศสถูกกองทัพนาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครองประเทศ เลวี่-สเตราส์ก็ตระหนักว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายเนื่องมาจากการมีเชื้อสายยิวของเขา ดังนั้น นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวคนนี้จึงตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เลวี่-สเตราส์ ได้เข้าร่วมขบวนการ "เสรีฝรั่งเศส" ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลอเมริกันในการปลดปล่อยประเทศฝรั่งเศสจากการปกครองของนาซี หลังสงครามสิ้นสุดลง เขาจึงได้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิด และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491)
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เลวี่-สเตราส์ ก็ผลิตผลงานวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาชิ้นสำคัญออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงทศวรรษ 1950 เขาได้ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นและนิทานปรัมปรามาเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่า แม้มนุษย์ในทุกสังคมจะมีแบบแผนทางพฤติกรรมและความคิดร่วมกัน แต่พฤติกรรมของมนุษย์เหล่านั้นก็วางอยู่บนพื้นฐานของระบบตรรกะที่แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละสังคม ข้อเสนอดังกล่าวได้ท้าทายระบบคิดที่เห็นว่าวัฒนธรรมยุโรปหรือตะวันตกมีเอกลักษณ์และมีความสูงส่งกว่าวัฒนธรรมอื่น ซึ่งสอดคล้องกับความคิดต่อต้านลัทธิอาณานิคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี
เลวี่-สเตราส์ ยังเสนออีกว่า ภาษา, การสื่อสาร และระบบตรรกะทางคณิตศาสตร์ จะเปิดเผยให้เราได้เห็นถึงระบบพื้นฐานของสังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งระบบความเชื่อของมนุษย์นั้น ถือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะใช้วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนที่เชื่อมโยงสถาบันระดับพื้นฐานเหล่านั้นเข้ากับสถาบันอื่น ๆ ของสังคม
ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ แห่งฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้อาลัยแด่โคล้ด เลวี่-สเตราส์ ว่า "เขาเป็นหนึ่งในนักชาติพันธุ์วิทยาผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล" และ "เป็นผู้สร้างสรรค์วิชามานุษยวิทยาสมัยใหม่"
ทั้งนี้ นอกจากจะมีความสามารถในการเขียนงานวิชาการสาขามานุษยวิทยาแล้ว เลวี่-สเตราส์ยังถือเป็นปัญญาชนผู้มีอารมณ์ขันอันคมคาย โดยเขาเคยกล่าวติดตลกถึงนามสกุลของตนเองที่ไปพ้องกับชื่อของกางเกงยีนส์ยี่ห้อดังระดับโลกว่า "ไม่มีปีใดเลย ที่จะไม่มีคำสั่งซื้อกางเกงยีนส์ถูกจัดส่งมาที่ผม"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น