วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

เกาะบาหลี



    เกาะบาหลี ได้รับการขนานนามว่า อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา บาหลีเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีความยาวจากหัวเกาะถึงท้ายเกาะประมาณ  150 กิโลเมตร  อยู่ติดกับเกาะชวา มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน บาหลีได้ฉายาว่าเกาะมรกต เพราะมีต้นไม้เขียวขจีไปทั้งเกาะ เนื่องจากได้รับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไว้ดีเยี่ยม มีกฏหมายไม่ให้ปลูกสิ่งก่อสร้างที่เป็นสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติ โดยอาคารที่สร้างจะสูงกว่า 15 เมตรไม่ได้ บาหลีเป็นตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการดูแลรักษาเอาไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ธรรมชาติที่บริสุทธิ์เป็นเสน่ห์ของบาหลี ที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากไปชมกัน
ความหลากหลายและมนต์เสน่ห์ของเกาะบาหลี ถูกขนานนามมากมายว่าเป็น เกาะแห่งพระเจ้าบ้าง เป็นจุดรุ่งอรุณของโลกบ้าง ทั้งหมดนี้ เกิดจากความประทับใจของผู้ที่เคยไปเยือน
                ประวัติของเกาะบาหลีมีอยู่ว่า เจ้าหญิงมเหนทราดัตตา (Princess Mahendratta) แห่งชวาตะวันออก ทรงอภิเษกสมรสกับกษัตริย์บาหลีพระนามว่าพระเจ้าอุดายัน (KingUdayana) ทั้งสองมีโอรสชื่อเจ้าชายเองา (Erlangga) ซึ่งต่อมาได้ปกครองเกาะชวา เจ้าชายส่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปปกครองเกาะบาหลี ครั้นถึงปี ค.ศ. 1343 ชวาตะวันออกต้องอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์มัชปาหิต ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ชาวอินโดนีเซียยุคนั้น จึงหันมาบูชาเทพเจ้าตามหลักศาสนาฮินดู ในศตวรรษที่ 15 พ่อค้าชาวอินเดียนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ ศาสนาอิสลามเติบโตขึ้น จนชาวอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิม มีจำนวนมากขึ้น ชาวเกาะชวาที่นับถือศาสนาฮินดู จึงหนีไปอยู่ที่เกาะบาหลี เมื่อโปรตุเกสกับดัตช์เข้ามารุกรานอินโดนีเซีย นักล่าอาณานิคมทั้งสองประเทศ ไม่สนใจและไม่รู้จักบาหลี ทั้งๆ ที่ชาวดัตช์ ขนทาสที่เอามาทำไร่ชาและกาแฟ มาขึ้นบกที่หาดคูต้าของเกาะบาหลี ในศตวรรษที่ 18 ดัตช์กลัวว่าอังกฤษจะเข้ามายึดครองหมู่เกาะแถวนี้ จึงส่งกองทหารออกสำรวจและยึดหัวเมืองตามเกาะต่างๆ เป็นเมืองขึ้นของดัตช์ กองเรือดัตช์กับทหาร 7000 นาย ยกกำลังมาที่เกาะบาหลี ชาวเกาะต่อสู้อย่างกล้าหาญด้วยอาวุธที่ล้าสมัย ในการรบครั้งนั้นทหารดัตช์ สังหารชาวบาหลีตายไปหลายหมื่นคน กษัตริย์บาหลีในเวลานั้นชื่อ พระเจ้าการังกาเสม (Raja Karanggasem) แม้จะสู้ไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อจวนตัวเข้าที่คับขัน พระองค์กับสมาชิกภายในพระราชวงศ์ทั้งหมดก็ตัดสินใจทำพิธีปูปูตัน (Puputan) คือสู้จนตัวตาย ด้วยการพร้อมใจกันฆ่าตัวตามหมู่ ไม่ยอมถูกจับเป็นเชลยของชาวดัตช์ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย จารึกการฆ่าตัวตายหมู่ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1906 เกิดการจลาจลขึ้นที่เมืองกลุงกุง ดัตช์ส่งกำลังทหารเข้าล้อมปราบผู้ก่อการจลาจลอย่างโหดร้าย จนกลายเป็นสงครามย่อยๆ ระหว่างดัตช์กับชาวบาหลี เมื่อชาวเกาะพ่ายแพ้ เจ้าผู้ครองนครกลุงกุงทรงนำพระราชวงศ์และข้าราชบริพารที่จงรักภักดี พร้อมด้วยชาวเกาะบาหลีจำนวนหนึ่ง ทุกคนแต่งกายด้วยชุดขาวล้วน พร้อมใจกันทำพิธีปูปูตัน โดยกษัตริย์มอบกริชประจำพระองค์ให้นักบวชของราชสำนักใช้กริชนั้นแทงพระองค์เป็นคนแรก จากนั้นพวกที่เหลือก็ทำการสังหารกันเอง เป็นการฆ่าตัวตายตามพิธีปูปูตัน คาดว่าในครั้งนั้น มีคนตายไปเกือบ 2000 คน หลังจากนั้นได้ไม่นานดัตช์จึงมีอำนาจเหนือเกาะบาหลีโดยเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น