วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ 2556


 เดือนมกราคมวนเวียนมาถึงอีกครั้ง บรรดานักเรียนทั้งหลายคงจำกันได้ดีว่า วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครู ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนสั่งอบรมวิชาให้เรา วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักถึงความหมายของครู และประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวันครูกันค่

ความหมายของครู 

          ครู หมายถึง  ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน

ความสำคัญของครู 

          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆ คน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง


วันครู

ประวัติความเป็นมา

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" 

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

          ด้วยเหตุนี้ คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู
 
          เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู ตลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

กิจกรรมวันครู

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

          1. กิจกรรมทางศาสนา

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น 
          
          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ 

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

 คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอก และในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

          "ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม"

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู           1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
 
รายชื่อประเทศที่มี วันครู

ประเทศที่มี วันครู ที่ไม่ใช่วันหยุด

          - อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน

ประเทศที่มี วันครู เป็นวันหยุด

          - แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
          - ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน 
         

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556


เพลง ใกล้รุ่ง / Cocorico!

 Cocorico!

J’entends l’écho d’un chant de coq au loin,
Annonçant le petit matin,
Bercé par la belle mélodie,
Synchronisée en harmonie.

Je me réveille de bonne heure,
Par les toutes premières lueurs
Ambrées d’or du soleil
Caressant tendrement le ciel.

Cocorico! Le coq nous dit bonjour!
Ouvre ton cœur au soleil, à l’amour,
Ne tardons plus à cueillir
De la vie les plaisirs
Qu’attend le nouveau jour.

Quand pleure la rosée de larmes de bonheur,
Rafraîchissant nos champs de fleurs,
Et les oiseaux chantant en chœur,
Tant de tendresse et de douceur!



เพลง  ใกล้รุ่ง

ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ ไกล ไกล
ชุ่มชื่นฤทัย หวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลง ขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมาน ประทานกล่อมใจ
ใกล้ยามเมื่อแสง ทอง ส่อง
ฉันคอยมองจ้อง ฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมา หนาว ใจ
รอช้าเพียงไร ตะวันจะมา
เพลิดเพลินฤทัย ฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์ อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้ เพลิน หนักหนา
แสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราสำราญ
หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่ รัง นอน
เข้าเชยชิดช้อน ลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ
.ใกล้ยามเมื่อแสง ทอง ส่อง
ฉันคอยมองจ้อง ฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมา หนาว ใจ
รอช้าเพียงไร ตะวันจะมา
เพลิดเพลินฤทัย ฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์ อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้ เพลิน หนักหนา
แสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราสำราญ
หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่ รัง นอน
เข้าเชยชิดช้อน ลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ..

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

คำขวัญวันเด็กตั้งแต่อดีต - ปัจจุบัน

ย้อนไป พ.ศ.2498 ได้เกิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัวและเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็กๆ
ของตนมากขึ้น การขานรับเป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น
โดยกำหนดกันว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ  สำหรับประเทศไทย รับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี
ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่าไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ
ิเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาตินำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม
ในที่สุดที่ได้รับมติเห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2498คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น
มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ รับไปดำเนินการส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดงานได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ
3 ตุลาคม พ.ศ.2498 คือวันเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมาราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
เป็นวันเด็กแห่งชาติ จัดติดต่อกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้นมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงาน
วันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าเดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กๆไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน
นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครองจึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ทั้งการจราจรก็ติดขัดจึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม
เสียทุกสิ่งทุกอย่าง ได้สะดวกสบายขึ้นและมีความเหมาะสมมากกว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา
ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ จากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ด้วยเหตุนี้ปี 2507
จึงไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก
และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดีและเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิของเด็ก คำขวัญวันเด็ก
เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก
จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็ก ปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ คำขวัญวันเด็กตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  มีดังนี้ค่ะ
พ.ศ. 2499 - จอมพล ป.พิบูลสงคราม : จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507 : ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516 - จอมพล ถนอม กิตติขจร : เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ : สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ : เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519 - หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช : เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520 - นายธานินทร์ กรัยวิเชียร : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ : เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2522 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ : เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ : อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ : รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ : รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน : สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536 - นายชวน หลีกภัย : ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537 - นายชวน หลีกภัย : ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538 - นายชวน หลีกภัย : สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา : มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ : รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541 - นายชวน หลีกภัย : ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542 - นายชวน หลีกภัย : ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543 - นายชวน หลีกภัย : มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544 - นายชวน หลีกภัย : มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545 - พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร : เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546 - พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร : เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547 - พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร : รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548 - พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร : เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549 - พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร : อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ : มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

พ.ศ.2551 - พลเอก สุรยุธ์ จุลานนท์ : สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2552 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ :
 ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัค
พ.ศ.2553 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ.2554 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
พ.ศ.2556 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

งานกระจกสี


งานกระจกสี (อังกฤษStained glass) คำว่า งานกระจกสี หมายถึงงานที่ใช้กระจกสีตกแต่งหรืองานการทำกระจกสี ซึ่งไม่แต่เฉพาะแต่หน้าต่างเท่านั้น ยังรวมถึงศิลปะอื่นๆ ที่ใช้กระจกสีตกแต่งด้วยเช่น บานกระจกที่ทำเพื่อการตกแต่งโดยเฉพาะ หรือโคมตะเกียงเป็นต้น ตลอดระยะพันปีการตกแต่งด้วยกระจกสีจะหมายถึงหน้าต่างประดับกระจกสีของวัด หรือ มหาวิหารทางคริสต์ศาสนา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ การตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยเดิมจะแต่งบนแผงแบนสำหรับใช้ทำหน้าต่าง แต่วิธีการตกแต่งด้วยกระจกสีสมัยปัจจุบันจะรวมไปถึงโครงสร้างกระจกสีแบบสามมิติและงานแกะสลักกระจกสีด้วย และจะรวมไปถึงบานกระจกสีสำหรับที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “leadlight” ด้วย หรืองานศิลปะที่ทำจากกระจกสีและเชื่อมต่อกันด้วยตะกั่วอย่างเช่น โคมกระจกสีที่มีชื่อเสียงที่ทำโดย หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany)
เมื่อพูดถึงวัสดุคำว่า “กระจกสี” โดยทั่วไปจะหมายถึงแก้วที่ทำให้เป็นสีโดยการเติม Metallic salts ระหว่างการผลิต ช่างจะใช้กระจกสีในการสร้าง “หน้าต่างประดับกระจกสี” โดยการเอากระจกสีชิ้นเล็กๆ มาจัดให้เป็นลวดลายหรือภาพภายในกรอบโดยเชื่อมชิ้นกระจกด้วยกันด้วยเส้นตะกั่ว เมื่อเสร็จแล้วก็อาจจะทาสีและย้อมสีเหลืองตกแต่งอีกเล็กน้อยเพื่อให้ลวดลายเด่นขึ้น นอกจากนั้นคำว่า “กระจกย้อมสี” (Stained glass) จะหมายถึงหน้าต่างกระจกที่วาดทาสีเสร็จแล้วเผาในเตาหลอมก่อนที่จะทิ้งไว้ให้เย็น
“งานกระจกสี” เป็นงานฝีมือที่ศิลปินต้องมีพรสวรรค์ทางศิลปะเพื่อที่จะออกแบบได้ และต้องมีความรู้ทางวิศวกรรมเพี่อที่สามารถประกอบบานกระจกที่ทำใว้ให้แน่นหนาภายในกรอบสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะกระจกบานใหญ่ๆ ที่จะต้องรับน้ำหนักของตัวบานกระจกเองและสามารถทนทานต่อสภาวะอากาศภายนอกได้ หน้าต่างบานใหญ่เหล่านี้ยังอยู่รอดมาให้เราชมบ้างตั้งแต่สมัยยุคกลางโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในยุโรปตะวันตกหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นจักษุศิลป์ชนิดเดียวที่เหลือมาตั้งแต่ยุคกลาง จุดประสงค์ของหน้าต่างประดับกระจกสีมิใช่ให้ผู้ดูมองออกไปดูโลกภายนอกหรือให้แสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างแต่จะควบคุมผู้อยู่ภายใน จากเหตุผลนี้หน้าต่างประดับกระจกสีจึงอาจจะเรียกได่ว่าเป็น “การตกแต่งผนังส่องแสง” (“illuminated wall decorations”) มากกว่าจะเป็นหน้าต่างอย่างตามความหมายทั่วไปของหน้าต่างที่ใช้มองออกสู่ภายนอก
การออกแบบหน้าต่างวัดอาจจะเป็นได้ทั้งอุปมาอุปไมยหรือไม่ก็ได้ หน้าต่างอาจจะเป็นตำนานจากคัมภีร์ไบเบิล ประวัติศาสตร์ หรือ วรรณคดี หรือ ชีวิตของนักบุญ หรือผู้อุปการะวัด หรืออาจจะเป็นลวดลายสัญญลักษณ์ เช่นตราประจำตระกูล การตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้างหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวในหัวข้อเดียวกันเช่นถ้าเป็นวัดก็อาจจะเป็นเรื่องราวชีวประวัติของพระเยซู หรือนักบุญ หรือผู้สร้างวัด ถ้าเป็นภายในวิทยาลัยกระจกอาจจะมีสัญลักษณ์สำหรับศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ หรือภายในบ้านอาจจะเป็นลวดลายแบบใดแบบหนึ่งที่เจ้าของเลือก

การทำสีกระจก

จากคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11 เมื่อศิลปะการประดับกระจกสีเริ่มรุ่งเรืองก็เริ่มมีโรงงานผลิตกระจกขึ้นตามแหล่งที่มีทรายแก้ว (Silica) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำกระจก แก้วทำเป็นสีโดยการเติม metallic oxide ในขณะที่แก้วในเบ้าที่ทำด้วยดินเหนียวยังเหลวอยู่ แก้วสีที่ทำโดยวิธีนี้จึงเรียกว่า “แก้วเบ้าโลหะ” (pot metal) ถ้าจะให้แก้วออกสีเขียวก็เติมออกไซด์ทองแดง ให้ได้สีน้ำเงินก็เติมโคบอลต์ และให้ได้สีแดงก็เติมทอง ในปัจจุบันสีเขียวและน้ำเงินใช้วิธีทำคล้ายกัน สีแดงก็ทำจากส่วนผสมสมัยใหม่ ทองจะใช้ทำเฉพาะสีแดงออกไปทางชมภูกว่าสมัยโบราณ

[แก้]การทำแก้วชนิดต่างๆ

“แก้วหลอด” (Cylinder glass) แก้วหลอดทำจากแก้วเหลวที่ทำเป็นลูกกลมๆ แล้วเป่าจนกระทั่งเป็นหลอดกลวงเหมือนขวด เรียบและหนาเท่ากัน พอได้ที่ก็ตัดออกจากท่อเป่า แผ่ออกไปให้แบน แล้วรอให้เย็นลงเพื่อความทนทาน แก้วชนิดนี้เป็นแก้วชนิดที่ใช้ประดับหน้าต่างกระจกสีที่เราเห็นกันทุกวันนี้
“แก้วมงกุฏ” (Crown glass) แก้วชนิดนี้จะเป่าเป็นทรงถ้วยแล้ววางบนโต๊ะหมุนที่สามารถหมุนได้เร็ว แรงเหวี่ยงของการหมุนทำให้แก้วแผ่ยืดออกไป จากนั้นก็เอาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ ได้ แก้วชนิดนี้ใช้ในการประดับหน้าต่างกระจกสี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้แต่งกรอบเล็กๆภายในหน้าต่างของที่อยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ลักษณะของกระจกแบบนี้จะเป็นระลอกจากศูนย์กลาง เพราะตรงกลางกระจกจะได้แรงเหวี่ยงน้อยที่สุดทำให้หนากว่าส่วนอื่น ชิ้นกลางนี้จะใช้สำหรับสเปชเชียลเอฟเฟกต์เพราะความขรุขระของพื้นผิวทำให้สะท้อนแสงได้มากกว่าชิ้นอื่น กระจกชิ้นนี้เรียกว่า “กระจกตาวัว” [1] (bull's eye) มักจะใช้กันสำหรับที่อยู่อาศัยในศตวรรษที่ 19 และบางครั้งก็จะใช้ในวัดด้วย
“แก้วโต๊ะ” (Table glass) ผลิตโดยการเทแก้วเหลวลงบนโต๊ะโลหะแล้วกลึงด้วยท่อนโลหะที่เป็นลวดลาย ลายจากท่อนโลหะก็จะฝังบนผิวกระจก แก้วแบบนี้จึงมีแบบมีผิว ( texture) หนักเพราะการที่แก้วมีปฏิกิริยาต่อโลหะเย็น แก้วชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันภายในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาในชื่อที่เรียกกันว่า “cathedral glass” ถึงแม้จะไม่ใช่แก้วที่ใช้ในการสร้างมหาวิหารในสมัยโบราณแต่มาใช้กันมากในการสร้างวัดในศตวรรษที่ 20
“แก้วเคลือบ” (Flashed glass) แก้วสีแดงที่ทำจากเบ้าโลหะที่กล่าวข้างต้นสีแดงมักจะออกมาไม่ได้อย่างที่ต้องการจะออกไปทางดำ และราคาการผลิตก็สูงมาก วิธีใหม่ที่ใช้ทำสีแดงเรียกว่า “flashing” ทำโดยเอา “แก้วหลอด” ใสที่ไม่มีสีที่กึ่งเหลวจุ่มลงไปใหนเบ้าแก้วแดงแล้วยกขึ้น แก้วแดงก็จะเกาะบนผิวแก้วใสที่ไม่มีสีบางๆ พอเสร็จก็ตัดออกจากที่เป่า แล้วแผ่ให้แบนและปล่อยไว้ให้เย็น
วิธีการเคลือบนี้มีประโยชน์หลายอย่างเพราะทำให้สามารถทำสีแดงได้หลายโทนตั้งแต่แดงคล้ำจนเกือบใส แต่ส่วนใหญ่จะใช้สีแดงทับทิมจนถึงสีแดงจางหรือแดงเป็นริ้วในการทำขอบบางๆ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อแก้วสีแดงเป็นสองชั้นก็สามารถสกัดผิวสีแดงออกเพื่อให้แสงส่องผ่านส่วนที่ใสที่อยู่ภายใต้ได้ เมื่อปลายสมัยปลายยุคกลางวิธีนี้ใช้ในการตกแต่งลวดลายที่วิจิตรของเสื้อคลุมของนักบุญประโยชน์อย่างที่สามซึ่งใช้กันมากในบรรดาศิลปินเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยแผ่นกระจกจะสะท้อนออกมาเป็นสีที่ไม่เสมอกันจึงเหมาะแก่การการตกแต่งเสื้อคลุมหรือม่าน

[แก้]การผลิตกระจกสีในสมัยปัจจุบัน

ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ผลิตกระจกสีโดยเฉพาะที่ ประเทศเยอรมนีสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศโปแลนด์ ที่ยังผลิตกระจกสีลักษณะแบบดั้งเดิมโดยใช้วิธีการทำแบบสมัยโบราณ กระจกสีที่ผลิตโดยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในงานปฏิสังขรณ์หน้าต่างกระจกสีที่สร้างก่อนปีค.ศ. 1920 หน้าต่างกระจกสีสมัยใหม่ และงานหัตถกรรม หลังจากนั้นมักจะใช้แก้วหลายแบบโดยเฉพาะสมัยวิคตอเรีย

ขั้นตอนในการทำหน้าต่างประดับกระจกสี


  • ขั้นแรกผู้สร้างจะต้องมีแม่แบบหน้าต่างที่ออกแบบโดยสถาปนิก แม่แบบจะต้องพอเหมาะพอดีกับหน้าต่างที่เมื่อประกอบกระจกเสร็จจะกลับไปประกอบบนตัวหน้าต่างได้สนิท
  • หัวเรื่องที่จะทำก็ต้องให้เหมาะกับที่ตั้งหรือตำแหน่งของหน้าต่างภายในสิ่งก่อสร้าง เช่นหน้าต่างทางด้านตะวันตกจะเป็นหน้าต่างที่สำคัญที่สุดเพราะอยู่หน้าวัด หรือหน้าต่างอาจจะเพิ่มความสำคัญจากด้านตะวันตกไปตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งแท่นบูชาเอกเป็นต้น หรือความสัมพันธ์กับหน้าต่างอื่นๆ ภายในสถานที่ก่อสร้างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเนื้อหาหรือรูปทรง ช่างจะวาดแบบคร่าวๆ ที่เรียกว่า “Vidimus” ให้ผู้ประสงค์จะสร้างดูเป็นตัวอย่างก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ
  • แต่เดิมหน้าต่างที่เป็นเรื่องราวเป็นราวจะแบ่งเป็นบานหรือแผ่นเล็กๆ ที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน หน้าต่างที่เป็นรูปคนก็จะเป็นรูปนักบุญหรือคนสำคัญยืนเป็นแถวมีสัญลักษณ์ประจำตัวประกอบเช่นกระจกรูปนักบุญแม็ทธิวอีแวนเจลลิสก็จะมีรูปเทวดาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญแม็ทธิวอยู่ข้างๆ บางครั้งบานกระจกก็จะมีคำบรรยายใต้ภาพ หรือชื่อขององค์การหรือผู้ที่อุทิศให้ หรือชื่อของผู้อุทิศทรัพย์ให้สร้าง ในการทำหน้าต่างแบบโบราณ การตกแต่งเนื้อที่นอกจากบริเวณที่กล่าวแล้ว เช่นกรอบรอบเรื่องราวหรือหุ่น หรือซุ้มเหนือหุ่น หรือรายละเอียดอื่นๆ ก็จะขึ้นอยู่กับศิลปิน
  • จากนั้นช่างก็จะร่างภาพขนาดเท่าของจริงของทุกส่วนของหน้าต่าง ความซับซ้อนของภาพร่างก็จะขึ้นอยู่กับลวดลายของหน้าต่าง ถ้าเป็นหน้าต่างวัดเล็กๆ หน้าต่างหนึ่งก็อาจจะมีเพียงสองสามช่องแต่ถ้าเป็นหน้าต่างมหาวิหารก็อาจจะมีถึงเจ็ดช่องและซ้อนกันสามชั้นหรือมากกว่า และลวดลายหน้าต่างก็จะมีมากกว่าวัดเล็ก ในสมัยยุคกลางภาพร่างนี้จะวาดโดยตรงลงบนโต๊ะที่ฉาบปูนบางๆเอาไว้ ซึ่งใช้ในการตัด ทาสี และประกอบ
  • เวลาออกแบบช่างออกแบบต้องคำนึงถึงโครงสร้างของหน้าต่าง ลักษณะและขนาดของกระจก และวิธีทำของตนเอง ภาพร่างแบ่งเป็นส่วนๆสำหรับกระจกแต่ละชิ้น ช่างออกแบบจะวางตำแหน่งชิ้นตะกั่วที่ใช้เชื่อมแก้วแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
  • ตัดแก้วตามขนาดที่บ่งไว้ในร่าง ช่างก็จะเลือกสีที่ต้องการ การตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการหรือใกล้เคียงแล้วเจียรขอบทีละนิดด้วยเครื่องมือจนได้ขนาดที่ต้องการ
  • รายละเอียดหน้า ผม และมือจะใช้วิธีวาดและทาสีใต้ผิวกระจกโดยใช้สีที่มีส่วนผสมพิเศษเช่นผงตะกั่วหรือผงทองแดง ผงแก้วละเอียด gum arabic กับส่วนผสมอื่นที่อาจจะเป็น เหล้าองุ่น น้ำส้มสายชู หรือปัสสาวะ ศิลปะการวาดและทาสีเพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
  • เมื่อได้ชิ้นกระจกตามขนาดที่ต้องการและส่วนที่ต้องวาดแล้วก็ถึงเวลาประกอบเข้าด้วยกันโดยใส่ลงในช่องระหว่างชิ้นตะกั่วรูป “H” แล้วจึงเชื่อมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็อัดด้วยซีเมนต์ที่นิ่มเป็นน้ำมัน หรือ “กาว” ระหว่างตะกั่วกับชิ้นแก้วเพื่อให้ยึดชิ้นแก้วให้แน่นไม่ให้เคลื่อนไหวได้
  • เมื่อประดับแต่ละส่วนเสร็จก็นำเข้ากรอบ ตามปกติแล้วเวลาประกอบหน้าต่างในกรอบ ช่างก็จะใส่ท่อนเหล็กเป็นระยะๆ แล้วผูกบานกระจกกับท่อนเหล็กที่วางไว้ด้วยลวดทองแดง เพื่อจะรับน้ำหนักหน้าต่างได้ หน้าต่างแบบกอธิคจะแบ่งเป็นช่องๆ ด้วยกรอบโลหะที่เรียกว่า “ferramenta” วิธีเดียวกันนี้นำมาใช้ในการประกอบหน้าต่างประดับกระจกสีขนาดใหญ่ในสมัยบาโรกด้วย
  • ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1300 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการใช้การย้อมสีเงิน (silver stain) ซึ่งทำจาก ซิลเวอร์ไนเตรท ทำให้ได้ตั้งแต่สีเหลืองมะนาวอ่อนไปจนถึงสีส้มแก่ การย้อมก็ทำโดยการทาบนผิวกระจกและเผาเพื่อให้ติดเนื้อกระจกและไม่ให้หลุด สีเหลืองนี้มีประโยชน์ในการทำขอบรูป ซุ้มในรูปหรือรัศมีหรือเปลี่ยนกระจกสีน้ำเงินให้เป็นเขียวเพื่อใช้ในการทำส่วนที่เป็นสนามหญ้าในรูป
  • ประมาณปี ค. ศ. 1450 ก็มีเริ่มมีการเย้อมแบบที่เรียกว่า “Cousin's rose” ซึ่งทำให้สีผิวหนังสดขึ้น
  • ราวปี ค. ศ. 1500 มีการย้อมแบบใหม่หลายวิธี ส่วนใหญ่ใช้ผงแก้วสีป่นเป็น enamel ตอนแรกวิธีนี้จะใช้ในการทำตราประจำตระกูลหรือตราประจำตัว หรือรายละเอียดเล็กๆ แต่พอมาถึงราวปี ค. ศ. 1600 การตัดกระจกเป็นชิ้นๆ ก็วิวัฒนาการขึ้นมาก แทนที่จะตัดกระจกเป็นชิ้นเล็กๆ ช่างก็จะวาดรูปลงบนแผ่นกระจกคล้ายแผ่นกระเบื้องแล้วเผาให้สีติดกระจกแล้วจึงเอาไปประกอบในกรอบโลหะ
  • การทำหน้าต่างประดับกระจกสีสมัยใหม่จะใช้ทองแดงแทนตะกั่ว

งานกระจกสีก่อนยุคกลาง

การทำกระจกสีทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งที่ ประเทศอียิปต์ และ โรมันซึ่งผลิตสิ่งของทำด้วยแก้วที่ชิ้นไม่ใหญ่นัก บริติชมิวเซียม มีกระจกสำคัญจากสมัยโรมันสองชิ้นๆ หนึ่งเรียกว่าถ้วย “Lycurgus” ซึ่งเป็นสีเหลืองมัสตาร์ดขุ่นๆ แต่จะออกสีม่วงแดงเมื่อถูกแสง และ แจกันพอร์ตแลนด์ (Portland vase) ซึ่งเป็นสีน้ำเงินดำและมีสลักขาวบนผิวแก้ว
ในวัดคริสต์ศาสนาสมัยแรกๆ จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 มีหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยแผ่นหินปูนอาลาบาสเตอร์ (alabaster) บางๆบนกรอบไม้ ลักษณะจะคล้ายกระจกที่มีแบบหน้าต่างประดับกระจกสี แต่ที่คล้ายคลึงกับการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่าคือหน้าต่างที่ทำจากหินและใช้แก้วสีของศิลปะอิสลาม จาก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 นักเคมีชาวอาหรับชื่อ Jabir ibn Hayyan หรือ เจเบอร์ (Geber) บรรยายสูตรการทำกระจกสีไว้ 46 สูตรในหนังสือชื่อ “หนังสือเกี่ยวกับมุกมีค่า” (“Kitab al-Durra al-Maknuna” หรือ “The Book of the Hidden Pearl”) หนังสือฉบับต่อมาเพิ่มอีก 12 สูตรโดย al-Marrakishi จาเบียร์บรรยายถึงวิธีผลิตกระจกสีคุณภาพดีพอที่จะตัดเป็นอัญมณีได้[1]

[แก้]งานกระจกสียุคกลาง

งานกระจกสีกลายมาเป็นศิลปะเต็มตัวและรุ่งเรืองที่สุดในยุคกลางเมื่อมาใช้เป็นทัศนศิลป์เพื่อเล่าเรื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก
ตั้งแต่ประมาณ 950 ก่อนคริสต์ศตวรรษ จนถึงสมัยโรมาเนสก์และสมัยกอธิคยุคแรก ประมาณปี ค. ศ. 1240 หน้าต่างยังมิได้แบ่งเป็นช่องๆ เมื่อสร้างกระจกก็ต้องสร้างทั้งบานในกรอบเหล็กจึงทำให้ต้องประกอบไม่มีส่วนใดของหน้าต่างที่ช่วยแบ่งแรงกดดัน เช่นที่มหาวิหารชาร์ทร (Chartres Cathedral) หรือทางตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรี เมื่อสถาปัตยกรรมกอธิควิวัฒนาการขึ้นหน้าต่างก็กว้างมาขึ้นทำให้มีแสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างมากขึ้น เมื่อหน้าต่างกว้างขึ้นก็มีการแบ่งเป็นช่องๆ ด้วยแกนหิน[2] (Stone tracery) เมื่อมีแกนหินแบ่งทำให้ช่องตกแต่งภายในหน้าต่างหนึ่งๆ เล็กลงทำให้การทำหน้าต่างมีความซับซ้อนได้มากขึ้นตามลำดับ และขนาดของบานหน้าต่างทั้งบานก็ใหญ่ขึ้นไปอีกจนมาเจริญเต็มที่ในสมัยที่เรียกว่ากอธิควิจิตร (Flamboyant gothic) ซึ่งมีอิทธิพลมาจากสมัยกอธิคเพอร์เพนดิคิวลาร์ (Perpendicular) ของอังกฤษ ที่เน้นเส้นดิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากงานหน้าต่างกระจกรอบมหาวิหารกลอสเตอร์
เมื่อการใช้ความสูงในสมัยกอธิคทำได้ดีขึ้นในวัดและมหาวิหารก็มีการพยายามทำให้ดีกว่าเดิม จากหน้าต่างสี่เหลี่ยมมียอดโค้งแหลมมาเป็นหน้าต่างกลมที่เรียกว่า “หน้าต่างกุหลาบ” (rose window) ซึ่งเริ่มทำกันที่ประเทศฝรั่งเศส จากทรงง่ายๆ ที่เจาะผนังหินบางๆ มาจนเป็นหน้าต่างล้อที่มีแกนซึ่งจะเห็นได้จากหน้าต่างกุหลาบที่มหาวิหารชาร์ทร และที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นอีกมากที่แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ที่ปารีส หรือหน้าต่าง “ตาบาทหลวง” (Bishop's Eye) ที่มหาวิหารลิงคอล์น

[แก้]การทำลายและการสร้างใหม่

ระหว่าง การปฏิรูปศาสนาที่ประเทศอังกฤษในระหว่างที่มีการการยุบอารามภายใต้การนำของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6พระราชโอรส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 หน้าต่างประดับกระจกสีถูกทุบทำลายไปมากและสร้างแทนที่ด้วยกระจกใสเกลี้ยงธรรมดา และต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ครอมเวลล์ต่อต้านลัทธิประติมานิยมหรือศิลปะนิยม (การใช้รูปปั้นหรือเครื่องตกแต่งเป็นสิ่งสักการะ) และสนับสนุนลัทธิการเข้าถึงศาสตาโดยจิตนิยมแทนที่ ผู้เชื่อถือในปรัชญานี้จึงทำลายรูปสัญลักษณ์และสิ่งของอื่นๆที่ถือว่าไม่ควรจะมีอยู่ในวัดรวมทั้งหน้าต่างกระจกไปเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ที่ฝีมือดีๆ ก็ไม่มากเช่นที่คฤหาสน์เฮ็นเกรฟฮอลในซัฟโฟล์ค การทำลายครั้งหลังนี้ทำให้ศิลปะการตกแต่งด้วยกระจกสีเสื่อมลงจนกระทั่งมาฟื้นฟูกันใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19
แต่ในขณะเดียวกันในผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปถึงแม้ว่านิกายโปรเตสแตนต์จะเริ่มเป็นที่นิยมและมีการทำลายศิลปะทางศาสนาเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่การตกแต่งกระจกสียังคงทำกันอยู่ในลักษณะแบบคลาสสิก ซึ่งจะเห็นได้จากงานที่ ประเทศเยอรมนีประเทศเบลเยียม และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสมัยนี้การผลิตกระจกสีที่ประเทศฝรั่งเศสทำมาจากโรงงานที่เมืองลีมอชส์ และ เมืองมูราโน (Murano) ที่ประเทศอิตาลี แต่ในที่สุดการตกแต่งกระจกสีก็มาสิ้นสุดลงเอาระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งจากการบ่อนทำลายและการละเลย

[แก้]ยุคศิลปะฟื้นฟู

การหันมาสนใจในนิกายโรมันคาทอลิกในประเทศอังกฤษมาริเริ่มอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นความสนใจในวัดแบบยุคกลางโดยเฉพาะวัดแบบกอธิค จึงทำให้มีการสิ่งก่อสร้างที่เลียนแบบที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคซึ่งจอห์น รัสคิน ประกาศว่าเป็น “ลักษณะโรมันคาทอลิกแท้” ขบวนการสร้างสถาปัตยกรรมลักษณะนี้นำโดยสถาปนิกออกัสตัส พิวจิน ซึ่งก็ได้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมากในเมืองใหญ่อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรอันเป็นสาเหตุมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการซ่อมแซมวัดเก่าๆ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงทำให้มีการหันมาสนใจศิลปะการตกแต่งประดับกระจกสีกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีการก่อตั้งบริษัทสำคัญๆที่มีชื่อในการทำศิลปะกระจกสีเช่น
บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม
การทำกระจกสีมีเป็นวิธีการที่ซับซ้อนฉะนั้นจึงเหมาะแก่การทำในระดับการผลิตจึงจะคุ้มทุน บริษัทเช่นฮาร์ดแมน (Hardman & Co.) ที่ เบอร์มิงแฮม และ บริษัทเคลตันและเบล (Clayton and Bell) ที่ ลอนดอน ซึ่งจ้างช่างผู้ชำนาญในงานกระจกสีโดยเฉพาะ งานระยะต้นของฮาร์ดแมนออกแบบโดย ออกัสตัส พิวจิน ใช้ติดตั้งในสิ่งก่อสร้างที่พิวจินสร้าง แต่เมื่อพิวจินเสียชีวิตเมื่อปี ค. ศ. 1852 จอห์น ฮาร์ดแมน พาวเวลผู้เป็นหลานก็ทำกิจการต่อ งานของพาวเวลเป็นที่สนใจของ Cambridge Camden Society ซึ่งเป็นขบวนการที่มีจุดประสงค์ในการศึกษาสถาปัตยกรรมแบบกอธิคและสิ่งของโบราณที่มีค่าทางศาสนา นอกจากนั้นพาวเวลยังมีหัวทางการค้าจึงได้นำผลงานไปแสดงที่ “งานมหกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย ค. ศ. 1873” หลังจากออกงานที่ฟิลาเดลเฟียพาวเวลก็ได้รับงานหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกา
วิลเลียม มอริส นักออกแบบกระจกสีในกลุ่ม Pre-Raphaelites ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น วิลเลียม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ (Edward Burne-Jones) ขณะที่โจนส์มีชื่อเสียงเป็นจิตรกร สติวดิโอของวิลเลียม มอริสมีชื่อในการออกแบบหน้าต่างสำหรับสิ่งก่อสร้างและการตกแต่งภายในรวมทั้งภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ และผ้าตกแต่งภายใน ส่วนหนึ่งของธุรกิจของมอริสคือการตั้งโรงงานผลิตกระจกสีสำหรับงานของตนเองและงานที่เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์ออกแบบ
เคลตันและเบล เคลตันและเบล (Clayton and Bell) เป็นผู้ผลิตกระจกสีรายใหญ่ ว่ากันว่าวัดในอังกฤษเกือบทุกวัดมีกระจกจากเคลตันและเบลหรือบางวัดจะเป็นของเคลตันและเบลทั้งวัดด้วยซ้ำ ในบรรดาช่างออกแบบของเคลตันและเบล ชาร์ล อีเมอร์ เค็มพ์ เป็นช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดที่แยกตัวไปมีโรงงานของตนเองเมื่อปีค. ศ. 1869 งานออกแบบของเค็มพ์จะมีลักษณะเบากว่างานของเคลตันและเบล เค็มพ์เป็นผู้ออกแบบชาเปลของวิทยาลัยเซลวิน (Selwyn College) ที่เคมบริดจ์ และออกแบบหน้าต่างด้วยกันทั้งหมด 3,000 บาน วอลเตอร์ ทาวเวอร์ผู้เป็นหลานของเค็มพ์ดำเนินกิจการต่อ และเติมหอที่รวงข้าวสาลีที่เป็นสัญญลักษณ์ของเค็มพ์และดำเนินกิจการต่อมาจนค. ศ. 1934
หน้าต่างกระจกประดับสีคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษ 20th
วอร์ดและฮิวส์ และ วิลเลียม เวลส์ อีกบริษัทหนึ่งที่สำคัญคือวอร์ดและฮิวส์ (Ward and Hughes) แม้จะเริ่มด้วยลักษณะกอธิคแต่เมื่อมาถึงราวค.ศ. 1870 ก็เริ่มเปลี่ยนโดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุนทรียนิยม บริษัทนี้ทำกิจการอยู่จนถึงปลายปี ค.ศ. 1920 และอีกคนหนึ่งวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) ผู้สร้างหน้าต่างทางตะวันตกของมหาวิหารกลอสเตอร์ วิลเลียม เวลส์เองเป็นนักธุรกิจไม่ใช่นักออกแบบแต่จะใช้ช่างออกแบบเช่นโจเซฟ เบกลีย์ (Joseph Baguley) ผู้ที่ต่อมาออกมาตั้งบริษัทของตนเอง
ทิฟฟานีและลาฟารจ ช่างกระจกชาวอเมริกันสองคน จอห์น ลาฟารจ (John La Farge) ผู้ประดิษฐ์ “แก้วรุ้ง” (Opalescent glass) ซึ่งเป็นแก้วที่หลายสีซึ่งเกิดจากผสมระหว่างการผลิต ลาฟารจได้รับลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880 และหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี ผู้ได้รับบลิขสิทธิ์หลายใบจากการใช้ “แก้วรุ้ง” หลายๆ วิธี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และเชื่อกันว่าเป็นผู้เริ่มใช้ทองแดงแทนตะกั่วในการเชื่อมชิ้นกระจกสี ที่ทิฟฟานีใช้ในการทำหน้าต่าง ตะเกียง และสิ่งตกแต่งอื่นๆ