วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสLouis XVI de France; หลุยส์แซซเดอฟร็องส์) (5 กันยายน ค.ศ. 1754 – 21 มกราคม ค.ศ. 1793) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ ในช่วงต้นของสมัยใหม่ จนกระทั่ง ค.ศ. 1791 ทรงสูญเสียราชบัลลังก์แห่งนาวาร์และครองราชย์ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ในที่สุดในปี ค.ศ. 1792 ทรงถูกโค้นราชบัลลังก์และสำเร็จโทษในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งพระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คือหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวและทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1765 ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกาเจ้า (พระเจ้าหลุยส์ที่ 15) ในปี ค.ศ. 1774
ช่วงต้นรัชกาลได้รับการบันทึกไว้ว่าทรงพยายามที่จะปฏิรูปฝรั่งเศสอันเป็นผลมาของแนวคิดจากยุคเรืองปัญญา ซึ่งรวมถึงความพยายามในการล้มเลิกระบบมาเนอร์, ระบบตายย์ (ฝรั่งเศสTaille; การจัดเก็บภาษีที่ดินคำนวณจากขนาดที่ดินที่ถือครอง), และสนับสนุนขันติธรรมไปในแนวทางที่ออกห่างจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ขุนนางฝรั่งเศสตอบสนองต่อการปฏิรูปนี้ในแนวทางที่เป็นปรปักษ์และประสบความสำเร็จในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ความไม่พอใจในหมู่สามัญชนเพิ่มมากขึ้น พระเจ้าหลุยส์ยังทรงเข้าไปพัวพันกับสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาด้วยการประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากจนนำไปสู่การมีหนีสินล้นพ้น
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการคลังที่ตามมามีส่วนทำให้ความนิยมใน การปกครองระบบโบราณ เสื่อมลง ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชั้นกลางและล่างของฝรั่งเศสส่งผลให้การต่อต้านอภิสิทธิ์ชนและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มมากขึ้น ที่ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของระบอบการปกครองนี้ ในปี ค.ศ. 1789 คุกบาสตีย์ถูกทลายลงระหว่างการก่อจลาจลในปารีส และการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ได้เริ่มต้นขึ้น ก่อให้เกิดสถาบันทางนิติบัญญัติแห่งชาติ การปฏิวัติยังสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเพียงระบอบในนามในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
แม้ว่าจะมีการสนับสนุนรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 ความใฝ่พระราชหฤทัยที่จะทำให้การปฏิวัติเลือนหายไปด้วยการแทรกแซงทางการทหารจากชาติมหาอำนาจในยุโรปก็ประสบความล้มเหลว ตามมาด้วยเหตุการณ์ความพยายามเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจองค์กษัตริย์เป็นวงกว้างทั่วฝรั่งเศส ต่อมาพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ถูกโค้นลงอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์สิบสิงหาคมที่มีการบุกทำลายพระราชวังตุยเลอรีส์ พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ถูกจองจำในป้อมปราการแห่งหนึ่ง จนเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ขึ้น พระองค์ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อประเทศชาติโดยสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส ต่อมาพบว่ามีความผิดจริงและทรงถูกตัดสินให้สำเร็จโทษด้วยการปลงพระชนม์ ทรงถูกเรียกขานในแบบ ซีโตเยน (สามัญชน) ว่า หลุยส์ กาเปต์ ซึ่งนามสกุลนี้มีที่มาจากการที่พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กาเปเซียง ทรงถูกบั่นพระเศียรด้วยเครื่องกิโยตีนในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793

ทรงพระเยาว์

หลุยส์โอกุสต์เดอฟร็องส์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งดยุกแห่งแบร์รีตั้งแต่แรกประสูติ มีประสูติกาล ณ พระราชวังแวร์ซาย ทรงเป็นโอรสองค์ที่สามจากทั้งหมดเจ็ดพระองค์ของหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสกับพระราชินีมารี เลสซ์ไซน์สกา พระราชมารดามีพระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟาแห่งแซกโซนี ซึ่งเป็นพระนัดดาในพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งแซกโซนีและพระมหากษัตริย์โปแลนด์
เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ทรงเผชิญกับความยากลำบากในวัยเยาว์ เนื่องจากว่ากันว่าพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ทรงทอดทิ้งและให้ความสำคัญกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ ซึ่งมีพระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถมากกว่า แต่ต่อมาก็สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1761 ด้วยพระชนมายุ 9 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์มีพระพลานามัยแข็งแรงแต่ทรงขี้อายมาก มีพระปรีชาในด้านการเรียนและทรงแตกฉานในภาษาละติน, ประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังทรงใช้ภาษาอิตาลีและภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ โปรดกิจกรรมที่ใช้พละกำลังเช่นการล่าสัตว์กับพระอัยกา หรือการหยอกเล่นกับพระอนุชา เจ้าชายหลุยส์สตานิสลาส์ เคาท์แห่งโพรว็องส์ และเจ้าชายชาร์ลส์-ฟีลีปป์ เคาท์แห่งอาร์ตัวส์ นอกจากนี้ยังทรงได้รับแรงสนับสนุนในงานอดิเรกส่วนพระองค์อื่นๆ เช่น การประกอบนาฬิกา ซึ่งถูกมองว่าเป็นประโยชน์กับผู้เยาว์
จากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาด้วยวัณโรคในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1765 เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ผู้มีพระชนมายุได้เพียง 11 พรรษา ก็ได้เฉลิมพระยศใหม่ขึ้นเป็นโดแฟ็งพระมารดาของพระองค์ผู้ทรงไม่เคยฟื้นจากความอาดูรในการสูญเสียพระสวามีก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1767 ด้วยวัณโรคเช่นเดียวกัน การศึกษาอย่างเข็มงวดในแบบอนุรักษนิยมจากดยุกแห่งโวกียงซึ่งมีฐานะเป็น ข้าหลวงแห่งราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสGouverneur des Enfants de France; กูแวร์เนอเดส์อ็องฟ็องต์สเดอฟร็องส์) ตั้งแต่ ค.ศ. 1760 จนกระทั่งทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1770 ไม่ได้ช่วยเตรียมพระองค์ในการขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระอัยกาในปี ค.ศ. 1774 เลย การศึกษาที่ทรงได้รับเป็นการผสมปนเปกันของวิชาต่างๆ โดยเฉพาะศาสนา, จริยธรรม และมนุษยศาสตร์  ทั้งนี้พระอาจารย์อาจจะมีส่วนในการปลุกปั้นพระองค์ให้ทรงกลายมาเป็นกษัตริย์ผู้ไร้ซึ่งความหนักแน่นเฉียบขาดอีกด้วย เช่นที่ อับเบ แบร์ตีแยร์ พระอาจารย์ของพระองค์ชี้แนะว่าความขลาดกลัวคือคุณค่าในตัวกษัตริย์ผู้แข็งแกร่ง หรือที่อับเบ โซลดีนี ผู้รับฟังคำสารภาพบาป ได้ชี้แนะไว้ว่าอย่าทรงปล่อยให้ผู้คนอ่านพระราชหฤทัยของพระองค์ได้

ชีวิตส่วนพระองค์

มารี อ็องตัวแน็ต สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสกับพระราชโอรส-ธิดาองค์โต 3 พระองค์แรก, เจ้าหญิงมารี-เตเรส, เจ้าชายหลุยส์-ชาร์ลส์ และเจ้าชายหลุยส์-โจเซฟ แต่เดิมแล้วในพระอู่ควรจะมีเจ้าหญิงโซฟี เฮเลน เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส แต่ภาพนี้ถูกวาดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ขององค์หญิง โดยเอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขณะมีพระขนมายุ 20 พรรษา
เจ้าหญิงโซฟี เฮเลน เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส
ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ทรงอภิเษกกับอาร์คดัชเชสพระชนมายุ 14 พรรษาจากราชวงศ์ฮับส์บูร์กพระนามว่า มาเรีย แอนโทเนีย (รู้จักกันดีในชื่อฝรั่งเศสของพระองค์ว่า มารี อ็องตัวแน็ต) พระญาติชั้นที่สองและพระราชธิดาองค์เล็กสุดในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระชายาผู้น่าเกรงขาม
การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านบางส่วนจากสาธารณชนชาวฝรั่งเศส จากที่การเป็นพันธมิตรกับออสเตรียได้นำพาฝรั่งเศสเข้าสู่ความหายนะในสงครามเจ็ดปี ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่สหราชอาณาจักรทั้งในแผ่นดินยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยในช่วงของการอภิเษกสมรสครั้งนี้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสมองสัมพันธไมตรีกับออสเตรียด้วยความชิงชัง และพระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงถูกมองว่าเป็นสตรีชาวต่างชาติผู้ไม่เป็นที่พึงประสงค์  สำหรับคู่รักราชนิกุลผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว การอภิเษกครั้งนี้เริ่มแรกดูชื่นมื่นแต่ห่างเหิน - ความเขินอายของเจ้าชายหลุยส์โอกุสต์หมายความว่าพระองค์จะทรงล้มเหลวในการรวมกันของสองราชวงศ์ครั้งนี้ สร้างความทุกข์ใจให้แก่พระชายาอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือความกังวลว่าจะทรงถูกบงการโดยพระชายาเพื่อประสงค์บางอย่างของพระบรมวงศ์ฮับส์บูร์ก ก็ยิ่งกดดันให้ทรงวางพระองค์เย็นชาต่อพระชายาในที่สาธารณะมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ทั้งสองพระองค์ก็ทรงใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น จนมีรายงานว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1773 สายสัมพันธ์ได้แนบแน่นจนผสานทั้งสองพระองค์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอย่างชัดจริงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1777
อย่างไรก็ดี ทั้งสองพระองค์ทรงล้มเหลวที่จะมีรัชทายาทร่วมกันเป็นเวลาหลายปีนับจากนี้ สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้แก่การอภิเษกสมรส[8] ในขณะที่สถานการณ์ได้เลวร้ายลงไปอีกเมื่อจุลสารสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร ลีเบลล์ (ฝรั่งเศสlibelles) ได้เสียดสีล้อเลียนทั้งคู่โดยการตั้งคำถามว่า "กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม? กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม"[9]
ในช่วงเวลานั้นมีการถกเถียงถึงสาเหตุของความล้มเหลวในช่วงต้นของการมีองค์รัชทายาท และก็ยังทรงเป็นเช่นนั้นไป หนึ่งในข้อเสนอแนะก็คือเจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ต้องทรงทุกข์ทรมานจากความเสื่อมสมรรถภาพทางสรีรวิทยา[10] ส่วนมากคาดเดากันว่าเกิดจากพระอาการหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในวัยพระเยาว์ (อังกฤษphimosis) ซึ่งคำเสนอแนะนี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1772 โดยเหล่าแพทย์หลวง[11] ด้านเหล่านักประวัติศาสตร์ยึดมั่นต่อมุมมองนี้ว่าทรงได้เข้ารับการสุหนัต[12] (วิธีการรักษาทั่วไปของอาการหนังหุ้มปลายไม่เปิด) เพื่อบรรเทาพระอาการหลังจากเป็นเวลาผ่านไปเจ็ดปีหลังการอภิเษกสมรส แพทย์หลวงประจำพระองค์ไม่เห็นชอบกับการผ่าตัดมากนัก - การผ่าตัดมีความละเอียดอ่อน, มีความชอกช้ำ และง่ายซึ่งการ "สร้างความเสียหายร้ายแรง" ต่อบุรุษวัยฉกรรจ์ ข้อถกเถียงเรื่องพระอาการข้างต้นและผลที่ตามมาจากการผ่าตัดส่วนมากสามารถพบเห็นได้ในงานเขียนของสเตฟาน ชไวจ์ นักเขียนชาวออสเตรีย[13]
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ส่วนมากว่าพระองค์มิทรงเคยเข้ารับการผ่าตัด[14][15][16] - ตัวอย่างเช่นในช่วงปลาย ค.ศ. 1777 ราชทูตปรัสเซียนามว่า บารอน โกลต์ซ รายงานว่าพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสทรงปฏิเสธรับการผ่าตัดอย่างแน่นอน[17] ข้อเท็จจริงก็คือเจ้าชายถูกประกาศว่ามีพระสมรรถภาพสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดต่อการมีเพศสัมพันธ์ ยืนยันโดยจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และในช่วงที่ทรงถูกกล่าวอ้างถึงการเข้ารับการผ่าตัด พระองค์เสด็จออกไปล่าสัตว์แทบจะทุกวันตามคำบันทึกส่วนพระองค์ ซึ่งหมายความว่าการทรงเข้ารับการผ่าตัดไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะทรงสามารถเสด็จออกไปล่าสัตว์ในช่วงสองสามสัปดาห์หลังจากการผ่าตัดนั้น ทั้งนี้ประเด็นถกเถียงถึงความสมบูรณ์ทางสรีระส่วนพระองค์ถูกนำไปประกอบกับปัจจัยอื่นแล้ว ซึ่งก็ยังคงเป็นที่โต้แย้งและถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงระยะต่อมา แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากมาก่อนหน้านี้ แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีรัชทายาทสืบเชื้อพระวงศ์รวมสี่พระองค์ ได้แก่
  • เจ้าหญิงมารี เตเรส ชาร์ลอตต์ (19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 – 19 ตุลาคม ค.ศ. 1851)
  • เจ้าชายหลุยส์ โจเซฟ ซาวีแยร์ ฟร็องซัวส์, โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (22 ตุลาคม ค.ศ. 1781 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1789)
  • เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลส์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศสในอนาคต ผู้ทรงเป็นกษัตริย์แต่เพียงในนาม) (27 มีนาคม ค.ศ. 1785 – 8 มิถุนายน ค.ศ. 1795)
  • เจ้าหญิงโซฟี เฮเลน เบียทริกซ์, สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ (9 กรกฎาคม ค.ศ. 1786 – 19 มิถุนายน ค.ศ. 1787)
คาร์ล ชอว์ เขียนในหนังสือ Royal Babylon: The Alarming History of European Royalty ของเขาว่า "ว่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นที่จดจำจากการเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์แรกที่ทรงริเริ่มการใช้มีดและส้อม อีกทั้งการที่ทรงสรงน้ำและสีพระทนต์น้อยครั้ง" ท้ายที่สุดราชทูตอิตาลีประจำราชสำนักฝรั่งเศสผู้นี้เขียนไว้ตอนท้ายประมาณพระราชกิจวัตรขององค์กษัตริย์ไว้ดั่งกับ "ความสนพระราชหฤทัยในสุขอนามัยส่วนพระองค์อันแปลกประหลาด"

ช่วงการปฏิวัติ

พระเจ้าหลุยส์ตอนการปกครองนั้นในช่วงการปฏิวัติพระเจ้าหลุยส์พร้อมพระโอรสและพระธิดาต้องทรงหลบหนีไปพระราชวังตุยเลอรีส์ชั่วคราว และจุดเป็นอีกอย่างพระเจ้าหลุยส์สั่ง เนคเกอร์ช่วย เขาเป็นคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระเจ้าหลุยส์ถูกแนะนำจากพระชายาให้ขอความช่วยเหลือจากออสเตรียและปรัสเซียโดยถูกจับได้ที่ วาแรน์และถูกนำตัวกลับปารีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น