วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ความสำคัญ
         เพื่อระลึกถึงวันคล้ายพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ 2310 เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหาร วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม
         ด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม
         และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน

วันศิลปินแห่งชาติ
         ในส่วนของวันศิลปินแห่งชาติ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์ในขณะนั้นว่า ต้องยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า โดยได้กำหนดรางวัลรวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของศิลปินแห่งชาติไว้ดังนี้ ศิลปินแห่งชาติได้กำหนดไว้ 3 สาขา ได้แก่

         1. สาขาทิศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ไม่ว่าจะเป็นแบบสองมิติ หรือสามมิติก็ได้ โดยสามารถแบ่ง
             ได้เป็น 8 สาขา ได้แก่
            - จิตรกรรม
            - ประติมากรรม
            - ภาพพิมพ์
            - ภาพวาด
            - ภาพถ่าย
            - สื่อประสม
            - สถาปัตยกรรม
            - การออกแบบ

         2. สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายถึง ศิลปะที่ใช้การแสดงทั้งทางด้านวิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ การแสดง ดนตรี
             และการแสดงพื้นบ้าน

         3. สาขาวรรณศิลป์ (Literature) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวกับงานประพันธ์ต่าง ๆ ได้แก่ กวีนิพนธ์ บทละคร เรื่องสั้น และนวนิยาย 

ลักษณะและความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติ
         ลักษณะของเข็ม เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่อง อ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งของเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า "ศิลปินแห่งชาติ" และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือเหรียญกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคฑาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์ เชื่อมประสานระหว่างกัน

ความหมาย
         แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ความสารมารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะ ไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชู เกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รบพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานเข็มเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลต่อไป

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
         1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
         2. เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
         3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
         4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
         5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
         6. เป็นผู้มีคุณธรรมและะมีความรักในวิชาชีพของตน
         7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

กลุ่มที่ ๑ ศิลปินแห่งชาติ
         1. ค่าครองชีพรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท
         2. ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามระเบียบของทางราชการ
         3. ช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือสาธารณะภัยเท่าที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน 5,000 บาท
         4. ช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต คนละ 12,000 บาท

กลุ่มที่ ๒ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม
         1. ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามระเบียบของทางราชการ
         2. ช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ หรือสาธารณะภัยเท่าที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน 3,000 บาท
         3. ช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต คนละ 7,000 บาท

กลุ่มที่ ๓ ศิลปินอื่นนอกจากกลุ่มที่ ๑ และ ๒
         การช่วยเหลือให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุนศิลปิน


ศิลปินแห่งชาติ
         ศิลปินแห่งชาติ ๔ ท่านแรกที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้แก่
         1. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
         2. ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์
         3. นายเฟื้อ หริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
         4. นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น